สหกิจศึกษาและฝึกประสบการวิชาชีพ

ความหมาย

รายวิชาสหกิจศึกษา (Cooperative Education) เป็นรายวิชาที่เน้นการปฏิบัติงานในสถานประกอบการอย่างมีระบบ โดยมีการส่งนักศึกษาออกไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาด้านการพัฒนาอาชีพ เสริมทักษะและประสบการณ์ให้พร้อมที่จะเข้าสู่ระบบการทำงาน และการเป็นผู้ประกอบการ โดยกำหนดให้มีจำนวนหน่วยกิตไม่น้อยกว่า ๖ หน่วยกิตตลอดหลักสูตร และนักศึกษาต้อปฏิบัติงานตามเวลาการทำงานของสถานประกอบการเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 16 สัปดาห์ หรือ 4 เดือน

รายวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ (Professional Experience) รายวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ เป็นรายวิชาที่ส่งเสริมให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงในการเข้าไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสนำองค์ความรู้ทางด้านวิชาการที่ได้รับจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ เพิ่มพูนองค์ความรู้และประสบการณ์ในการทำงานให้แก่นักศึกษา โดยกำหนดให้มีจำนวนหน่วยกิตเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของแต่ละหลักสูตรและนักศึกษาต้องปฏิบัติงานตามเวลาการทำงานของสถานประกอบการเป็นระยะเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 10 สัปดาห์ หรือตามระยะเวลาที่หลักสูตรกำหนด"


หลักการและเหตุผล

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนานักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่สมบูรณ์ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานผ่านรายวิชาการปฏิบัติงาน นักศึกษาจะได้รับการปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการ ทำให้นักศึกษาได้นำความรู้ ทักษะที่ได้รับจากในห้องเรียน มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริง  ประสบการณ์ที่ได้รับจะส่งเสริมให้นักศึกษาเกิดการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องในด้านกระบวนการคิดอย่างมีระบบ การสังเกตุ การตัดสินใจ การวิเคราะห์และทักษะการประเมินผลเรียนรู้ ส่วนจัดหางานและฝึกงานของนักศึกษา จึงจัดตั้งขึ้นเพื่อสนับสนุนการดําเนินงานด้านการปฏิบัติงานแก่นักศึกษาผ่านรายวิชาสหกิจศึกษาและฝึกประสบการณ์วิชาชีพ


วัตถุประสงค์

  1. เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสได้เรียนรู้ประสบการณ์ทางวิชาการ วิชาชีพ และวิชาชีวิตจากการไปปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ จนสามารถพัฒนาตนเองให้พร้อมก้าวสู่การทำงาน
  2. เพื่อเปิดโอกาสให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตให้มีคุณลักษณะเด่นที่พึงประสงค์และพร้อมทำงาน
  3. เพื่อให้เกิดการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนที่ทันสมัยได้มาตรฐาน และตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงาน
  4. เพื่อเป็นการสร้างพันธกิจสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการ ผ่านนักศึกษาและอาจารย์นิเทศ อันจะนำไปสู่ความร่วมมือ ร่วมคิด ร่วมทำและร่วมได้รับประโยชน์กว้างขวางขึ้นในอนาคต

ลักษณะการปฏิบัติงาน

  1. ปฏิบัติงานเสมือนเป็นพนักงานของสถานประกอบการ
  2. มีหน้าที่รับผิดชอบที่แน่นอน โดยงานที่ได้รับมอบหมายเป็นงานที่มีคุณภาพ เหมาะสมกับความรู้ความสามารถของนักศึกษาตามหลักสูตรวิชาชีพ
  3. ทำงานตามเวลาของสถานประกอบการกำหนด
  4. อาจได้รับค่าตอบแทนหรือสวัสดิการต่างๆ ตามความเหมาะสมของสถานประกอบการ

ประโยชน์ที่จะได้รับ

  1. ต่อนักศึกษา
    • ได้รับประสบการณ์ตามสาขาวิชาชีพเพิ่มเติมนอกเหนือจากการเรียนในห้องเรียน
    • ได้พัฒนาทักษะต่างๆ รอบด้าน ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill เป็นการเพิ่มศักยภาพให้พร้อมสู่การทำงานจริง
    • สามารถเลือกสายอาชีพได้ถูกต้อง เนื่องจากได้ทราบความถนัดของตนเองมากขึ้น
    • สำเร็จการศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีศักยภาพในการทำงานที่มากกว่าและมีโอกาสได้รับการเสนองานก่อนสำเร็จการศึกษา
  2. ต่อสถานประกอบการ
    • เกิดความร่วมมือระหว่างผู้บริหารสถานประกอบการ และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง 
    • เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรในด้านการส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาและช่วยพัฒนาบัณฑิตของประเทศ
    • เป็นวิธีการหนึ่งในการสรรหาพนักงานประจำที่มีความรู้ความสามารถตรงกับตำแหน่งงาน โดยอาจลดเวลาในการสอนงานและเวลาในการทดลองงานลงได้
    • พนักงานประจำจะมีเวลามากขึ้นที่จะไปปฏิบัติงานในหน้าที่อื่นที่มีความยากและซับซ้อนยิ่งขึ้น
    • มีนักศึกษาที่มีความกระตือรือร้น และมีความพร้อมทางวิชาการช่วยปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่อง 
    • อาจารย์นิเทศกับนักศึกษาได้มีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาให้กับสถานประกอบการ ซึ่งเป็นการลดภาระในองค์กร
    • สามารถนำไปลดหย่อนภาษีตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 ได้
  3. ต่อมหาวิทยาลัย
    • เกิดความร่วมมือ และช่วยต่อยอดภารกิจด้านการวิจัและบริการวิชาการ 
    • เป็นกระบวนการสร้างพันธมิตรและช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีกับสถานประกอบการ
    • ได้ข้อมูลสะท้อนกลับสำหรับการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร
    • ช่วยพัฒนาคุณภาพของนักศึกษาและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพให้ตรงกับความต้องการของตลาด